ประชาธิปไตยในยุคกรีกโบราณเป็นอย่างไร

  Mar 23, 2019   eyeicon  337 view   801

ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณ

 

ประชาธิปไตยคืออะไร?

ก่อนอื่นลุงขอพูดถึงที่มาของชื่อลุงกันก่อน คำว่า "ประชาธิปไตย" ที่มาจากคำว่า ประชา + อธิปไตย = ความเป็นใหญ่ของปวงชน

ส่วนชื่อฝรั่งของลุง คือ “Democracy” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คำว่า demos (“ประชาชน”) และ kratos (“การปกครอง/พลัง”) รวมกัน หมายถึง "ปกครองโดยประชาชน"

และเมือง 'เอเธนส์' (Athens) ในกรีซยุคโบราณก็ถูกยกให้เป็นบ้านเกิดของลุง เป็นเมืองแห่งประชาธิปไตยแห่งแรก!!

แต่ประชาธิปไตยในเอเธนส์เป็น 'ประชาธิปไตยทางตรง' ที่ประชาชนเป็นผู้ลงประชามติในเรื่องกฎหมายและนโยบายต่างๆด้วยตัวเอง

ส่วนประชาธิปไตยในไทยในปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ที่ประชาชนจะเลือกคนส่วนหนึ่งไปทำหน้าที่นั้นแทน

 

ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณเป็นยังไง???

 

ประชาธิปไตยในเอเธนส์

 

1. เป็นประชาธิปไตยที่ถูกจำกัดจำเขี่ย

ขุนนางเก่าแก่ของเอเธนส์ไม่ค่อยจะไว้ใจประสิทธิภาพของคนธรรมดามากนัก  พวกเขาจึงมีประชาธิปไตยให้สำหรับผู้ชายที่มีคุณสมบัติเหมาะสม อย่างการเป็นทหารในกองทัพเอเธนส์เท่านั้นที่จะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเท่านั้น

แต่ต่อมาก็มีการปฏิรูป ทำให้ผู้ชายเอเธนส์ทุกคนที่มีอายุมากกว่า 20 ปี สามารถใช้สิทธิ์ใช้เสียงได้ แต่ทั้งนี้มันก็แค่ 10%ของประชากรทั้งหมด! เพราะทีเหลือเป็นผู้หญิงและทาส ที่ห้ามหือห้ามอือใดๆ

ส่วนผู้ชายบางคนที่ไม่ใช่ชาวเอเธนส์แท้ๆ คือ มีพ่อหรือแม่ไม่ใช่ชาวเอเธนส์แท้ๆ ก็ถูกตัดสิทธิ์นี้เช่นเดียวกัน

 

Cleisthenes บิดาแห่งประชาธิปไตย

 

2. รัฐบุรุษผู้ก่อตั้งประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง!

พอลุงเล่ามาถึงตรงนี้แล้วแล้วอาจจะอยากอุทานเบาๆว่า WTF!? แต่มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ ไคลส์ธีนีส (Cleisthenes) ผู้นำเอเธนส์ในสมัยนั้น เขาเป็นผู้ปฏิรูประบอบการปกครองในเอเธนส์ เพราะหลังจากที่เขาสามารถโค่นอำนาจของฮิปปีอัส” (Hippias) และ “ฮิปปาร์คุส” (Hipparchus) สองศรีพี่น้องทรราช และชิงอำนาจจากไอซากอรัส  (Isagoras) ด้วยการช่วยเหลือจากประชาชน ทำให้ไคลส์ธีนีสเห็นว่า การเมืองการปกครองของเอเธนส์จะดีขึ้นถ้าประชาชนมีสิทธิ์ปกครองตัวเอง จึงทำสำมะโนครัวให้ทุกคนกลายเป็นพลเมืองแห่งรัฐที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และมีการจัดแบ่งเขตพื้นที่ตามลักษณะภูมิศาสตร์ แล้วตั้งสภา500คนขึ้นมา เพื่อให้พลเมืองของแต่ละท้องที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง

แต่ตามกฎที่บอกในข้อ 1 คือคนที่ลงคะแนนเสียงได้ต้องเป็น "ชายชาวเอเธนส์แท้ๆ" เท่านั้น ทำให้ไคลส์ธีนีสเองก็ลงคะแนนเสียงไม่ได้ เพราะแม่ของเขาเป็นชาวเมืองซิซีออน (Sicyon) นั่นเอง

 

 

Kleroterion
เครื่องเคโลเทอเรียน

 

3. เลือกตั้งไม่มีการซื้อเสียงเพราะสุ่มเอา

องค์ประชุมหลักในประชาธิปไตยสมัยเอเธนส์ จะประกอบด้วย
- ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ พลเมืองชาวเอเธนส์ทุกคน
- ฝ่ายบริหาร คือ ชาวเอเธนส์ 500 คน
- ฝ่ายตุลาการ คือ ใช้ระบบสุ่มผู้สมัครเข้ามาทำหน้าที่

ถ้าให้ลุงพูดแบบสมัยใหม่คือ "ให้กาชาทำนายกัน!" เพราะ ชาวเอเธนส์จะมีระบบที่เรียกว่าการเลือกตั้งแบบจับสลาก (Sortition) ที่ทำผ่านเครื่องเคโลเทอเรียน (Kleroterion) ที่เป็นหินขนาดใหญ่ที่มีช่องใส่ลูกเต๋าคละสี และมีรูให้เสียบหินแผ่นเล็กที่ใช้แทนสลากชื่อของผู้สมัคร (Pinakia) มีวิธีการคือเครื่องจะสุ่มปล่อยลูกเต๋ามาทีละลูก ใครได้ลูกเต๋าสีไหนก็คือได้รับตำแหน่งนั้น จะซื้อเสียงซื้อตำแหน่งได้ไง ในเมื่อตนเองยังไม่รู้เลยว่าจะได้อะไร!!

 

ประชาธิปไตยที่แรกคือสปาร์ตา

 

4. เอเธนส์ไม่ได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยที่แรก!

ถึงแม้เมืองสปาร์ตา (Sparta) จะโด่งดังในเรื่องกองกำลังรบอันแข็งแกร่ง แต่ความจริงแล้วสปาร์ตาคือเมืองที่มีรัฐธรรมนูญแบบระบอบประชาธิปไตยแห่งแรกของโลก! พูดง่ายๆคือลุงเกิดที่สปาร์ตา แต่ไปดังที่เอเธนส์ ทำให้แฟนคลับคิดว่าลุงเกิดที่นั่นยังไงล่ะ!

รัฐธรรมนูญแบบระบอบประชาธิปไตยของสปาร์ตาเกิดขึ้นก่อนเอเธนส์ราว 50 - 200 ปี ซึ่งมีข้อแตกต่างกับเอเธนส์คือ ระบบการปกครองสปาร์ตา นอกจากจะเป็นประชาธิปไตยแล้วยังคงมีการปกครองแบบราชาธิปไตยส่วนหนึ่งแต่อยู่มีรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจ(ระบอบการปกครองที่มีพระราชาเป็นใหญ่) และยังเป็นคธาธิปไตยอีกส่วนหนึ่ง(ปกครองโดยกลุ่มบุคคลจำนวนน้อยของสังคม) ขณะที่เอเธนส์ไม่มีกษัตริย์เลย

ความเป็นประชาธิปไตยของสปาร์ตาอยู่ที่การมีวุฒิสภาที่แต่งตั้งจากประชาชนสูงวัย 30 คนเป็นผู้เสนอกฎหมาย และพลเมืองทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสภาที่ออกเสียงต่อกฎหมาย แต่ด้วยความโหดร้ายของระบอบทหารและระบบทาสของสปาร์ตา ทำให้เมืองนี้ไม่ได้ถูกยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งประชาธิปไตยที่แรกของโลก

 

แผนที่กรีกโบราณ

 

5. เมืองอื่น ๆ ก็มีประชาธิปไตยเช่นกัน

ในยุคโบราณ กรีซประกอบไปด้วยรัฐและเมืองกว่า 1,000 รัฐ ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายข้อมูลได้ระบุว่ามีรัฐอื่นๆที่ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เช่น ในเมืองอาร์กอส (Argos) ที่เอสคีลัส (Aeschylus) นักเขียนบทละคร ผู้เป็นบิดาแห่งโศกนาฏกรรมถึงกับสรรเสริญว่าอาร์กอสเป็นเมืองที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างทั่วถึง แต่โชคร้ายที่ได้ใช้ระบอบนี้เพียงสั้นๆในช่วง 470- 460 ปีก่อนคริสตกาล เพราะไปเป็นพันธมิตรกับสปาร์ตา

นอกจากนี้ เกาะโรดส์(Rhodes) , เมืองเมการา (Megara) , เมืองคอรินท์ (Corinth) ในกรีซ และเมืองในอาณานิคมของกรีซ เช่น เมืองซีรากูซา (Syracuse) , เมืองเมตาปอนตัม (Metapontum) ก็ใช้ระบอบประชาธิปไตย

 

การล่มสลายของประชาธิปไตย

 

6. อายุของลุงประชาธิปไตยในเอเธนส์ช่างสั้นนัก

ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ถูกสร้างขึ้นในสมัย 550 ปีก่อนคริสตกาล และรุ่งเรืองที่สุดในช่วง 480 – 404 ปีก่อนคริสตกาล แต่หลังจากนั้นก็เกิดสงครามเพโลพอนนีเซียน เป็นการต่อสู้ระหว่างเอเธนส์และสปาร์ตาที่มีเปอร์เซียเป็นพันธมิตร สงครามนี้กินเวลาไปกว่า 27 ปี เอเธนส์จึงเริ่มระส่ำระส่ายจนไม่สามารถกลับมารุ่งเรืองได้อีก ส่วนสปาร์ตาได้กลายเป็นผู้นำแทน แต่การทะเลาะภายในเช่นนี้ ทำให้ถูกมาซีโดเนียดินแดนขั้วอำนาจใหม่จากทางเหนือรุกคืบจนกรีกล่มสลายไปในที่สุด
 

รู้ภูมิหลังวัยเด็กของลุงประชาธิปไตยแบบนี้แล้ว ก็รักลุงกันด้วยนะจ้ะ จุ้บๆ
 

อ้างอิง : ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณ , การเลือกตั้งแบบจับสลาก , สปาร์ตาคือเมืองที่ใช้ประชาธิปไตยที่แรก

CrossboXs

 

801

ฟูโจชิสาวโสด ผู้ชื่นชอบการ์ตูนและภาพยนตร์ ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องแฟชั่น และการแต่งหน้า